ลดโลกร้อน เริ่มต้นที่บ้าน ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมผลิตขยะเวิร์คช็อป ' ขยะถอดรูป' เปลี่ยนแผงไข่เป็นถังขยะน่ารักโดย เอ็ม บี เค กรุ๊ป
Backอากาศร้อนที่เรารู้สึกทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องตลก เพราะปัจจุบันอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นกว่าที่แล้วมากว่า 2 เท่าตัว เป็นผลให้เกิดปรากฏการณ์เลวร้ายต่อโลกอย่าง อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่ม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ ปริมาณฝนมากขึ้นในหลายพื้นที่ เอ็ม บี เค กรุ๊ป จึงร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักจัดการกากของเสียและอันตราย กรมควบคุมมลพิษ และกองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จับมือแก้ปัญหาโลกร้อนจากต้นเหตุ กระตุ้นภาคครัวเรือนให้เปลี่ยนพฤติกรรม ลดการผลิตขยะ นำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่และแยกเพื่อนำเข้าระบบรีไซเคิล พร้อมนำทีมวิทยากรลงให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะ พร้อมจัดเวิร์คช็อปให้เยาวชนและชุมชนในย่านปทุมวัน ภายใต้ชื่อกิจกรรม 'Transform to Use: DIY ขยะถอดรูป' และส่งมอบถังแยกขยะที่มีดีไซน์และลูกเล่นให้กับโรงเรียนในเขตปทุมวัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ แยกขยะอย่างถูกต้อง และบ่มเพาะนิสัยแยกขยะตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน ณ ลานกีฬาจารุเมือง เขตปทุมวัน
นางสาวศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เอ็ม บี เค กรุ๊ป เชื่อว่าการลดขยะจากต้นเหตุเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาที่ยั่งยืน เราจึงมุ่งเน้นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามหลักการ 3R ลดการผลิตขยะ นำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่และแยกเพื่อนำเข้าระบบรีไซเคิล โดยเวิร์คช็อปในครั้งนี้ นอกจากเชิญชุมชนและเยาวชนมาร่วมประดิษฐ์ถังขยะจากแผงไข่แล้ว เรายังมอบถังแยกขยะที่ทำขึ้นพิเศษและใส่ลูกเล่นสนุกๆ เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการแยกขยะของเด็กๆ ให้กับโรงเรียนในเขตปทุมวันที่มีความขาดแคลนถังขยะที่สามารถแยกขยะแต่ละประเภท ได้แก่ โรงเรียนวัดดวงแข และโรงเรียนวัดสระบัว รวมถึงเป็นการบ่มเพาะนิสัยการคัดแยกขยะให้ฝังลงใน DNA ตั้งแต่เป็นเยาวชน”
ผลจากการศึกษาของ Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC ซึ่งเป็นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การสหประชาชาติ พบว่าสาเหตุใหญ่ๆ ของภาวะโลกร้อนนี้มาจากกิจกรรมนานาชนิดของมนุษย์เรา ตัวการหนึ่งคือการบริโภคที่ก่อให้เกิดขยะมากมายมหาศาลจนไม่สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราในฐานะพลเมืองของประเทศไทยและของโลกต้องเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งนางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า "การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลกระทบมากมายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาวะโลกร้อน เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเริ่มจากหน่วยย่อยที่สุดในสังคมก็คือครัวเรือนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยกิจกรรมในครัวเรือนที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มีอยู่หลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า ลดการใช้ทรัพยากร แยกขยะเพื่อรีไซเคิลหรือหมุนเวียนมาใช้ใหม่ ซึ่งการร่วมมือร่วมใจของทุกคนในการลดก๊าซเรือนกระจกจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนได้”
ด้านนายบรรพต อมราภิบาล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว "ปัญหาขยะ เป็นปัญหาของชาติที่เราทุกคนช่วยกันแก้ไขได้ แต่การแก้ไขให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ทำได้ด้วยการสร้างจิตสำนึกที่ดี เพียงเปลี่ยนวิธีคิด โดยเริ่มต้นที่ ‘คิดก่อนทิ้ง’ จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการใช้ให้น้อย แล้วจึงแยกเพื่อนำมาใช้ใหม่และรีไซเคิล ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการผลิตใหม่อันส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกไปด้วย โดยเราสามารถแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ และนำวัสดุอย่าง ถุงพลาสติก ขวดแก้ว กลับมาใช้ซ้ำ หากทุกคนร่วมมือกันก็จะเป็นแนวทางลดขยะอย่างยั่งยืน”
นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า "ปัจจุบันมีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนกว่า 500,000 ตันต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่พบในเขตชุมชนเมือง และมากกว่าครึ่งเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากอัตราการกำจัดอย่างถูกวิธียังคงต่ำ จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทางกรมควบคุมมลพิษจึงร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำโครงการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมให้ความรู้ภาคประชาชนถึงชนิดของขยะอันตรายและการคัดแยกอย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่ประชาชนเริ่มทำได้อย่างง่ายที่สุดก็คือการคัดแยกขยะเหล่านี้ออกจากขยะมูลฝอยอื่น ๆ แล้วนำส่งเข้าระบบกำจัดที่ถูกต้องเป็นขั้นตอนต่อไป"
การนำขยะที่เหมือนว่าจะไร้ค่ากลับมาใช้ใหม่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นายธนวัติ มณีนาวา หรือที่นักประดิษฐ์รู้จักกันในนาม เป๋ ทำ-ดะ นักออกแบบผลงานจากสิ่งของเหลือใช้รอบตัว เจ้าของเพจ TUM:DA เลือกแผงไข่ที่ใช้แล้วจากร้านสุกี้ยากี้นัมเบอร์วัน และโรงแรมปทุมวันปริ้นเซส ธุรกิจในเครือ เอ็ม บี เค กรุ๊ป มาดีไซน์และเนรมิตเป็นถังขยะรีไซเคิลที่น่ารักและทำได้ไม่ยาก
ขณะที่ นางสมบูรณ์ สาลีผล ประธานชุมชนแฟลต สน.ปทุมวัน กล่าวว่า "กิจกรรมครั้งนี้เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดปริมาณขยะในครัวเรือนได้จริง เราจะนำความรู้ที่ได้ไปสานต่อเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน และเรายังได้ผักปลอดสารพิษไว้รับประทานในครอบครัวด้วย ขอขอบคุณบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่จัดโครงการดีๆ ให้กับชุมชน"
ถังขยะจากแผงไข่เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ แผงไข่จำนวน 3 แผง เคเบิ้ลไทร์ กรรไกร คัตเตอร์ ตะปู ปืนกาว สี พู่กัน และกระดาษลัง "จากนั้น นำแผงไข่ทั้ง 3 แผง มาดัดให้งอเล็กน้อย แล้วประกบตามรอยให้ตรงกัน ใช้ตะปูเจาะรูตามแนวตะเข็บ แล้วรัดด้วยเคเบิ้ลไทร์ให้แผงไข่ติดกันทั้ง 3 แผง โดยรัดเฉพาะด้านบนและเว้นด้านล่างเอาไว้” นายธนวัติอธิบายถึงขั้นตอนการประกอบร่างถังขยะ
"จากนั้น ตัดกระดาษลังเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อเป็นฐานสำหรับก้นถังขยะ แล้วจึงใช้เคเบิ้ลไทร์รัดส่วนตัวถังด้านล่างกับฐานให้ติดกัน ตกแต่งถังขยะจากแผงไข่ด้วยสีสันและลวดลายตามใจชอบ เท่านี้ก็ได้ถังขยะ DIY เพิ่มคุณค่าให้ของเหลือใช้แล้ว” นายธนวัติกล่าวเพิ่มเติม
นายสุรชัย พึ่งพงษ์ ครูโรงเรียนวัดดวงแข กล่าวว่า "โดยปกติโรงเรียนเรามีกิจกรรมที่ส่งเสริมจิตสำนึกนักเรียนด้านการจัดการขยะอยู่แล้ว เช่น โครงการธนาคารขวด ซึ่งเด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการแยกเก็บขวดพลาสติก เราจึงมีความยินดีที่ได้นำนักเรียนของเรามาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปครั้งนี้กับทาง เอ็ม บี เค กรุ๊ป เพราะมีการสอนให้เด็กๆ รู้จักการนำขยะและของเหลือใช้ภายในบ้านมาสร้างสรรค์ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งเด็กๆ สนุกสนานกับกิจกรรมนี้มาก” ส่วนด้าน ด.ช.นรวิชญ์ ใจจร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดดวงแข กล่าวว่า "กิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์กับตนเองมากๆ เพราะนอกจากจะสอนให้รู้จักการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว ยังสอนประดิษฐ์ถังขยะจากแผงไข่ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อถังขยะใบใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดโลกร้อนด้วย”
"นอกจากปลูกฝังจิตสำนึกชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นแล้ว เอ็ม บี เค กรุ๊ป ยังส่งเสริมให้พนักงานภายในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะด้วย อาทิ กิจกรรม ‘ซุกสุขสิ้นเดือน’ แลกของที่นำไปรีไซเคิลได้เป็นของกินของใช้เพื่อสร้างนิสัยให้พนักงานรู้จักคัดแยกขยะและเห็นคุณค่าของสิ่งของเหลือใช้ ทั้งนี้ เรายังมีโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่องที่จะเปลี่ยนขยะเป็นของมีค่าสำหรับผู้ด้อยโอกาส บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งปีนี้จะมีส่วนช่วยทำให้คนทั่วไปเห็นว่าขยะไร้ค่าก็สามารถนำไปยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสได้เช่นกัน" นางสาวศิรฐา กล่าวปิดท้าย
1. นางสาวศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) |
2. นางประเสริฐ จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก |
3. นายบรรพต อมราภิบาล ผู้อำนวยการกองส่งเสริม และเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม |
4. นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำานวยการสำนักจัดการกากของเสียและอันตราย กรมควบคุมมลพิษ |
5. นายธนวัติ มณีนาวา (เป๋ ทำ-ดะ) นักออกแบบผลงานจากสิ่งของเหลือใช้รอบตัว |
6. ด.ช.นรวิชญ์ ใจจร นักเรียนชั้นประถมศึกษัาป ที่ 6 โรงเรียนวัดดวงแข |
7. เอม บ เค กรุ๊ป มอบถังแยกขยะดีไซน์พิเศษให้กับโรงเรียนในเขตปทุมวัน |
8. เยาวชนและชุมชนในเขตปทุมวันร่วมเวิร์คช็อปประดิษฐ์ถังขยะจากแผงไข่ |
9. เด็กๆ ตั้งใจสร้างสรรค์ถังขยะจากแผงไข่ของตนเอง |
10. พนักงาน เอ็ม บี เค กรุ๊ป ช่วยน้องๆ ประดิษฐ์ถังขยะ |
11. ชาวชุมชนย่านปทุมวันร่วมเวิร์คช็อป |
12. เยาวชนและชุมชนในเขตปทุมวัน โชว์ผลงานประดิษฐ์ถังขยะจากแผงไข่ของตนเอง |
13. ถังขยะจากแผงไข่สุดน่ารัก |
14. เอ็ม บี เค กรุ๊ป และหน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมกิจกรรมด้านการคัดแยกขยะ |